ความเป็นมาของโครงการ

      ทางหลวงหมายเลข 4 ถนนเพชรเกษมเป็นเส้นทางสายหลักที่ใช้เดินทางสัญจรสู่จังหวัดภาคใต้ของประเทศไทย อีกทั้งยังเป็นเส้นทางคมนาคมไปสู่ภาคใต้ตอนล่าง โดยทางหลวงดังกล่าวได้ตัดผ่านเข้าเขตชุมชนหนาแน่นในเขตอำเภอเมืองกระบี่ จึงทำให้เกิดปัญหาการจราจรหนาแน่นและติดขัด เพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดและช่วยให้การขนส่งสินค้ามีความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยมากยิ่งขึ้น กรมทางหลวงจึงมีแนวคิดที่จะก่อสร้างทางแนวใหม่ สายทางเลี่ยงเมืองกระบี่ เพื่อใช้เป็นเส้นทางในการคมนาคมและแยกกระแสจราจรออกจากเขตเมืองกระบี่ ซึ่งจากการตรวจสอบพื้นที่โครงการเบื้องต้นพบว่า แนวเส้นทางของโครงการผ่านพื้นที่อ่อนไหวทางด้านสิ่งแวดล้อม จึงเข้าข่ายต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดประเภทและขนาดโครงการหรือกิจการซึ่งต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมฯ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 48 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 และ ฉบับที่ 2 พ.ศ.2561 ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องดำเนินการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สอดคล้องกับประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมข้างต้น ทั้งนี้ เพื่อให้การพัฒนาโครงการก่อให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งประชาชนที่อยู่บริเวณพื้นที่โครงการน้อยที่สุด

      งานบริการด้านวิศวกรรมการสำรวจและออกแบบรายละเอียดโครงการสำรวจและออกแบบทางหลวง 4 ช่องจราจร ทางเลี่ยงเมืองกระบี่ ระยะทางประมาณ 28.40 กิโลเมตร อาจจะมีผลกระทบต่อการใช้ประโยชน์ที่ดิน คุณภาพชีวิต วิถีชีวิต หรือมีส่วนได้เสียสำคัญเกี่ยวกับบุคคล ชุมชนท้องถิ่น หรือสภาพแวดล้อม จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการศึกษาประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยยึดหลักความโปร่งใสและความต่อเนื่องของการให้ข้อมูลโครงการ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องชัดเจน รวมทั้งมีการรับฟังข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะจากชุมชน เปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและข้อห่วงกังวล ตลอดจนปัญหาและอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นจากการพัฒนาโครงการ เพื่อนำผลที่ได้ไปปรับปรุงการดำเนินโครงการให้สอดคล้องกับสภาพสังคม เศรษฐกิจ วิถีชีวิต และความต้องการของชุมชน โดยอาศัยการสื่อสารสองทาง (Two-Way Communication) เพื่อให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกัน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการดำเนินโครงการ ให้เกิดการยอมรับ ไว้วางใจ ตลอดจนมีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติในอนาคต โดยยึดแนวทางการดำเนินงานการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (มกราคม พ.ศ.2562) และแนวทางการจัดทำรายงานการมีส่วนร่วมของประชาชนของสำนักงานสิ่งแวดล้อมและการมีส่วนร่วมของประชาชน กรมทางหลวง (ปรับปรุงครั้งที่ 3: พ.ศ. 2555) เพื่อไปพิจารณาประกอบในการศึกษาของโครงการให้มีครบถ้วนสมบูรณ์รอบด้านและสอดคล้องกับความต้องการของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย

วัตถุประสงค์

วัตถุประสงค์ของการศึกษาโครงการ

1) เพื่อดำเนินการสำรวจและออกแบบรายละเอียดทางด้านวิศวกรรมให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม โครงการสำรวจและออกแบบทางหลวง 4 ช่องจราจร ทางเลี่ยง เมืองกระบี่เป็นระยะทางประมาณ 28.40 กิโลเมตร

2) เพื่อยกระดับมาตรฐานทางหลวงให้เป็น 4 ช่องจราจรหรือมากกว่า พร้อมทั้งเพิ่มมาตรฐานงานก่อสร้างทางแนวใหม่

3) เพื่อแก้ไขการจราจรที่หนาแน่นและติดขัด ลดอุบัติเหตุ อำนวยความสะดวก ความปลอดภัยในการสัญจรและพัฒนาคุณภาพการให้บริการของระบบทางหลวง

วัตถุประสงค์ของการศึกษาโครงการ

1) เพื่อนำเสนอข้อมูลข่าวสารของโครงการ ประกอบด้วย ความเป็นมาของโครงการ วัตถุประสงค์ของการศึกษาพื้นที่ศึกษา ขอบเขตการศึกษา และแผนการดำเนินงานด้านต่างๆ ของโครงการให้กลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ

2) เพื่อรับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะต่อการศึกษาโครงการจากกลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้อง

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการ

1) เพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดและช่วยให้การขนส่งสินค้ามีความสะดวก รวดเร็วและปลอดภัย
2) พัฒนาโครงข่ายคมนาคมในเขตอำเภอเมืองกระบี่ อำเภอเหนือคลอง และพื้นที่ใกล้เคียงให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
3) ช่วยอำนวยความสะดวกรวดเร็วและปลอดภัยในการเดินทาง แก้ปัญหาการจราจรที่แออัดและหนาแน่นในตัวอำเภอเมืองกระบี่อย่างเป็นรูปธรรม

ลักษณะของโครงการและพื้นที่ศึกษา

เป็นการทบทวนงานศึกษาความเหมาะสมฯ หรือทบทวนการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่เดิม และสำรวจออกแบบ และศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) สำรวจและออกแบบทางหลวง 4 ช่องจราจร ทางเลี่ยงเมืองกระบี่
เป็นทางหลวงแนวใหม่ 4 ช่องจราจร พร้อมอุโมงค์ ประมาณ 3 กิโลเมตร และทางแยกต่างระดับอย่างน้อย 5 แห่ง มีจุดเริ่มต้นบริเวณทางออกทางหลวงหมายเลข 4 และสิ้นสุดบรรจบทางหลวงหมายเลข 4 เป็นระยะทางประมาณ 28.40 กิโลเมตร โดยให้เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศ โครงข่ายทางหลวง และปริมาณการจราจรในอนาคตพร้อมระบบระบายน้ำ สาธารณูปโภคที่เกี่ยวข้องและส่วนประกอบอื่นๆ ที่จำเป็น เพื่อให้สามารถอำนวยความสะดวก รวดเร็ว และความปลอดภัย ทางด้านจราจรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมทั้งให้คำนึงถึงความปลอดภัยลดผลกระทบต่อชุมชน และสภาพแวดล้อมในแนวสายทาง

พื้นที่ศึกษาโครงการในรัศมี 500 เมตร จากกึ่งกลางถนน ครอบคลุมเขตการปกครอง คือ ตำบลทับปริก ตำบลกระบี่น้อย อำเภอเมืองกระบี่ และตำบลเหนือคลอง ตำบลห้วยยูง ตำบลปกาสัย ตำบลโคกยาง อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่